เซ็บเดิร์ม
Home » โรคผิวหนัง “เซ็บเดิร์ม” คืออะไร ? วิธีการดูแลรักษาต้องทำอย่างไร

โรคผิวหนัง “เซ็บเดิร์ม” คืออะไร ? วิธีการดูแลรักษาต้องทำอย่างไร

          ‘เซ็บเดิร์ม’ เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบมากในปัจจุบัน ซึ่งหลาย ๆ คนก็อาจจะเคยได้ยินหรือรู้จักกันมาบ้างแล้ว โดยโรคนี้จะเกี่ยวกับปัญหาผิวที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของต่อมไขมันในชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการคันตามผิวหนัง ผิวแห้งแตก ผิวหนังตกสะเก็ด ลอกเป็นแผ่นหรือเป็นขุย ทั้งนี้ผิวหนังของแต่ละบุคคลก็จะมีสภาพผิวที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะมีผิวแห้ง ผิวมัน ผิวผสม ปัญหาผิวที่เกิดขึ้นจึงอาจจะแสดงอาการที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้หลายคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคผิวหนังชนิดนี้ก็อาจจะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เนื่องจากผิวหนังเป็นสิ่งแรกที่คนภายนอกจะมองเห็น หากเกิดสิ่งแปลกปลอมขึ้นกับผิวก็จะทำให้ไม่มีความมั่นใจเวลาที่ต้องออกไปพบปะผู้คน บทความในวันนี้ของ All About Clinic จึงจะพาทุกคนไปรู้จักกับเซ็บเดิร์มให้มากขึ้นว่าโรคนี้เกิดจากอะไร และมีแนวทางการดูแลรักษาอย่างไรได้บ้าง

เลือกอ่านหัวข้อในบทความ

โรคผิวหนัง เซ็บเดิร์ม คืออะไร ?

อาการของโรคเซ็บเดิร์ม

          โรคต่อมไขมันอักเสบ หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis) หรืออีกชื่อหนึ่งที่คนนิยมเรียกกัน เซ็บเดิร์ม คือ โรคเกี่ยวกับการอักเสบเรื้อรังของผิวหนัง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังตามร่างกายที่มีความมัน หรือมีต่อมไขมันอยู่มาก เช่น ใบหน้า จมูก หลังหู หน้าอก หลัง หนังศีรษะ รอบสะโพก ข้อพับแขน ขา และขาหนีบ โดยจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง มีสะเก็ดสีขาวหรือสีเหลือง มีอาการคัน มักจะเกิดขึ้นกับเด็กทารกหลังคลอดใหม่ ๆ ช่วงอายุประมาณ 1-3 เดือน จากนั้นอาการจะค่อย ๆ หายไปแล้วกลับมาเป็นอีกครั้งในช่วงวัยรุ่นและในกลุ่มคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป โดยจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ และมักจะกำเริบในช่วงที่มีอากาศหนาว ทำให้เกิดผื่นคัน อีกทั้งโรคนี้จะร้ายแรงกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทบางชนิด โรคพาร์กินสัน และผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ที่ติดเชื้อ HIV เป็นต้น

โรคเซ็บเดิร์มมีอาการอย่างไรบ้าง ?

อาการของโรคต่อมไขมันอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้หลายพื้นที่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจจะสังเกตได้จากอาการ ดังต่อไปนี้

  • ผิวหนังตกสะเก็ด หนังศีรษะลอก เป็นขุยหลุดออกมาคล้ายรังแคบนศีรษะ หรือบริเวณที่มีเส้นผม คิ้ว หรือหนวดเครา และอาจมีอาการผมร่วงเกิดขึ้นได้
  • มีผิวมันเป็นแผ่น โดยจะปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง หรือมีสะเก็ดแข็งบนหนังศีรษะ ใบหู ใบหน้า หน้าอก หรือตามส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย
  • มีอาการคัน ผื่นแดง ผิวหนังลอกเป็นขุยและผิวดูมัน
  • บริเวณเปลือกตามีอาการอักเสบ แดง หรือมีสะเก็ดแข็งติด
  • อาจจะมีอาการปวดหรือคันร่วมด้วย ซึ่งอาจปวดในบริเวณที่เกิดสะเก็ด
  • อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นหากเกิดความเครียด และอาจจะเกิดรุนแรงในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนจัด
  • สำหรับทารกที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน มักจะมีเกล็ดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลบริเวณศีรษะ แต่มักจะหายไปก่อนอายุครบ 1 ปี
  • อาจเกิดอาการรุนแรงจนกระทบกับชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับ หรือทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน วิตกกังวล ไม่มั่นใจในผิวของตนเองจนไม่กล้าออกไปใช้ชีวิตปกติ เป็นต้น

สาเหตุของโรคเซ็บเดิร์ม เกิดจากปัจจัยใดบ้าง ?

ทำความรู้จักโรคผิวหนัง_“เซ็บเดิร์ม”_คืออะไร___มีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง

          ในทางการแพทย์ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดโรคเซ็บเดิร์มว่าเกิดมาจากอะไร แต่แพทย์มีการสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้ว่า อาจจะเกิดจากเชื้อรา Malassezia ซึ่งเป็นเชื้อราธรรมชาติที่พบได้ตามน้ำมันของผิวหนัง หรือการเกิดเชื้อราบนหนังศีรษะ ซึ่งหากมีมากเกินไปก็เป็นสาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังชนิดนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน ได้แก่

  • พันธุกรรม
  • การเกิดความเครียด และนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เย็นจัดหรือร้อนจัด ซึ่งมักกำเริบตอนอากาศเย็นและแห้ง
  • ภูมิต้านทานผิดปกติ
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ ตับอ่อนอักเสบจากแอลกอฮอล์ และมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
  • โรคเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วน เช่น เบาหวาน
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและโรคทางจิตเวช เช่น โรคพาร์กินสัน และภาวะซึมเศร้า
  • ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศชาย
  • ภาวะแทรกซ้อนจากโรคบางชนิด รวมทั้งการใช้ยาบางชนิด เช่น psoralen interferon และ lithium
  • การใช้โลชั่นที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์          

วิธีการรักษาโรคเซ็บเดิร์ม ต้องทำอย่างไร ?

ทำความรู้จักโรคผิวหนัง_“เซ็บเดิร์ม”_คืออะไร___มีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง

          สำหรับโรคเซ็บเดิร์มนี้อาจจะหายเองได้ แต่ในบางรายก็อาจมีอาการต่อเนื่องนานหลายเดือน ซึ่งวิธีการดูแลรักษาจึงสามารถทำได้ทั้งการดูแลตัวเองและรักษาทางการแพทย์ คือ

  • ทำความสะอาดร่างกายและหนังศีรษะเป็นประจำ ซึ่งควรรักษาความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เป็นอยู่เสมอโดยการล้างด้วยสบู่และน้ำเปล่า
  • ในกรณีที่มีผื่นหนาบริเวณหนังศีรษะสามารถรักษาด้วยแชมพูขจัดรังแค โดยแชมพูควรมีส่วนประกอบ เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เซเลเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ซิงก์ ไพริไธออน (Zinc Pyrithione) โคล ทาร์ (Coal tar) และหากแชมพูที่ใช้มีประสิทธิภาพลดลง ให้เปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นสลับกันไป
  • ผิวหนังบริเวณอื่นที่มีอาการ สามารถบรรเทาด้วยการหาใช้ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราหรือโลชั่นคอร์ติโคสเตียรอยด์
  • ใช้ครีมบำรุงและผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะอาจจะทำให้มีอาการมากขึ้น
  • ควรโกนหนวดและเคราให้หมด เนื่องจากการมีหนวดและเคราจะยิ่งทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นแย่ลงได้
  • แนะนำให้พาตัวเองออกไปรับแสงแดดภายนอก เพราะแสงแดดจะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ แต่ควรทาครีมกันแดดทุกครั้งเพื่อป้องกันรังสียูวี
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และขจัดความเครียด
  • รับประทานยาต้านเชื้อรา หรือยาสำหรับกำจัดเชื้อรา ได้แก่ ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) แต่มักจะไม่ค่อยนำมาใช้ เนื่องจากจะสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงตามมา เช่น อาการแพ้ยา และปัญหาต่อตับ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณผิวหนัง เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองและติดเชื้อได้ ซึ่งหากมีอาการคันให้ใช้ครีมไฮโดรคอร์ติโซนหรือคาลาไมน์สำหรับช่วยระงับอาการคันชั่วคราวได้
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

          อย่างไรก็ตาม การรู้จักโรคเซ็บเดิร์มเบื้องต้นจะช่วยให้สามารถดูแลป้องกันตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ขึ้นได้ หรือหากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าผู้ป่วยรู้จักการดูแลตัวเองและเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกวิธีก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งท่านสามารถปรึกษาหรือหาแนวทางการรักษากับหมอพอล AAC ของเราได้ เนื่องจากคุณหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเส้นผมและการดูแลผิวพรรณ โดยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line @AACCENTER ปรึกษากับคุณหมอโดยตรงได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ 

 

เลเซอร์ขน หน้าใส ลดผมร่วง